วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รู้จัก Usaburo Sato ผ่านการสัมผัสธรรมชาติ เชื่อมโยงสายใยผูกพันกับเสื้อ Usaato

22:29


ขยาย “วงจรชีวิต” ผ่านเสื้อผ้า
คุณซาโต้อุซะบุโรนักออกแบบเสื้อผ้าเล่าว่า “เสื้อผ้าของอุซะโตะ” เป็นผลงานที่ทำขึ้นจากฝีมือชาวบ้านในหมู่บ้านภาคอีสานของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกฝ้าย เลี้ยงไหม ปั่นเส้นใย ไปจนถึงการตัดเย็บ รูปแบบการทำงานคือ สืบทอดการทำเสื้อผ้าตามวิถีธรรมชาติ ให้ความสำคัญความเบิกบานของทุกคนทั้งคนผลิต คนขายและคนสวมใส่ มากกว่าผลทางเศรษฐกิจที่เน้นกำไรสูงสุด ผู้สวมใส่จะสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนของเส้นใย สวมใส่แล้วรู้สึกสบายตัว จึงแนะนำกันปากต่อปาก
ผมต้องการผ้าที่มีพลังชีวิต
ผมทำงานด้านการออกแบบเสื้อผ้าประมาณ 40 ปี ส่วนใหญ่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้คนชั้นสูงในยุโรปที่มาสั่งตัดชุดแต่งงาน ชุดรับประทานอาหารงานเลี้ยงตอนเย็น แต่มาวันหนึ่งในปีคศ. 1991 ผมได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ทำให้ความคิดผมเปลี่ยนไป 180 องศาเลยทีเดียว ผมได้ยินเสียง เตือนสติว่าอย่างหลงไปกับโลกที่เน้นวัตถุหรือเน้นแต่เงินทองอย่างที่เป็น อยู่ในปัจจุบัน ผมไม่รู้สึกถึงเสน่ห์ของเสื้อผ้าที่ผมตัดเย็บมาก่อนหน้านี้เลยแม้แต่น้อย และไม่สามารถทำงานเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว ผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดสี่ปีว่าผมจะทำอะไรดี
ผมเริ่มครุ่นคิดว่า อะไรคือ “คุณลักษณะที่แท้จริงของเสื้อผ้า” ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดว่าคุณลักษณะที่แท้จริงของเสื้อผ้าคือแฟชั่น ผมคิดว่าคุณลักษณะของเสื้อผ้า คือ การสวมใส่เสื้อผ้าที่มี “ชีวิต” การที่เรานำสิ่งที่เปี่ยมด้วยพลังธรรมชาติมานุ่งห่มก็เท่ากับเป็นการดูแลเอาใจใส่ร่างกายของเรา การสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยวัสดุธรรมชาติช่วยให้ผิวหนังหายใจได้ดีกว่าสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุเคมี ความคิดทำให้ผมเริ่มเดินทางค้นหาว่ามีผ้าลักษณะนี้หรือไม่ ในช่วงเวลาสองปีผมเดินทางแปดประเทศเพื่อค้นหาผ้า และในที่สุดผมก็พบที่เชียงใหม่ ขั้นตอนการทำที่มีรายละเอียดและใช้มือล้วนๆ คนที่สวมใส่จะสัมผัสพลังธรรมชาติเต็มเปี่ยมเพราะเป็นผ้าที่นำของขวัญจากธรรมชาติมาทำประโยชน์สูงสุด ทอมืออย่างประณีต เมื่อผมมั่นใจได้ว่านี่เป็นผ้าทอของแท้ตามที่ผมต้องการค้นหา ผมจึงไปขอร้องให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทอผ้าให้
ไม่ยัดเยียดให้ชาวบ้านทอผ้า จนเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ดี
สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากคือการไม่ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเสียไป ผมจะไม่กำหนดระยะเวลาทอผ้าให้เสร็จและไม่กำหนดปริมาณการทอให้กับแต่ละคน ชาวบ้านเลยไม่ค่อยรู้สึกว่า “ทำงานเพื่อให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ” วิธีคิดของผมคือว่า
ถ้าให้ชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ คงจะเป็นเรื่องวิเศษทีเดียว ที่ผมคิดเช่นนั้นก็เพราะว่างานที่ทำในแต่ละวันแตกต่างไปตามอารมณ์ของพวกเขา เมื่อวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นแบบนี้ผมจึงไม่อยากเข้าไปทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตเพียงเพื่อจะทำงานให้ผม และอยากให้ชาวบ้านทำงานตอนที่เขาอยากทำ ผมให้ความสำคัญกับการทำงานด้วยจิตใจที่แจ่มใสมากว่าจะเน้นที่ประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งชาวบ้านไม่คิดว่าตนทำงานแลกเงิน ผมให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทำงานตามเงื่อนไขและอารมณ์ของแต่ละคน ผมเคารพงานผ้าทุกชิ้นที่ชาวบ้านทอเสร็จ ผมรู้สึกว่าชาวบ้านกรุณาแบ่งปันให้ผม ดังนั้นไม่มีการทำสัญญา ทำงานกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
ผ้าที่ทอขึ้นด้วยพลังการสร้างสรรค์ของช่างทอผ้าล้วนๆ

หลังจากได้ผ้าทอแล้วก็เป็นเรื่องของการออกแบบ ผมจะไม่สั่งชาวบ้านว่าอยากให้ทอผ้าแบบนั้นแบบนี้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ผมจะใช้วิธีอื่นเช่น นำผ้าที่ย้อมครามอย่างงดงามไปให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่าง หรือนำผ้าโบราณของญี่ปุ่นที่งดงามให้ชาวบ้านดู หรือไม่ก็พูดกับชาวบ้านว่าผมอยากได้ผ้ามัดย้อมที่เหมือนกับดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ผมพูดคร่าวๆเพียงเพื่อให้ชาวบ้านเห็นภาพเบลอๆ แล้วไปแหงนมองดูดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยกัน ผมคิดว่าเป็นวิธีให้พวกเขาดึงพลังจินตนาการออกมา
สมัยแรกๆ ผมรับซื้อผ้าที่ทอเสร็จไว้ทุกผืนและอธิบายข้อบกพร่อง มาถึงวันนี้ผมแทบจะไม่เห็นผ้าที่ทอใช้ไม่ได้เลย คุณภาพของงานยกระดับขึ้น ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมกันทำกับชาวบ้านในหมู่บ้านผ่านผ้าทอ ผมสนทนากับผ้าทีละผืน ทีละผืนแล้วจึงออกแบบ นอกจากนี้ ผมคิดว่าผ้าเป็นสิ่งมีชีวิต ผมจึงพยายามใช้กรรไกรตัดผ้าให้น้อยที่สุด และใช้หน้ากว้างของผ้าให้มากที่สุด ผมจะให้ช่างเสื้อแต่ละคนดูแลกันคนละชุดตั้งแต่ต้นจนเสร็จ โดยไม่แบ่งงานเย็บสอยให้ช่างคนอื่น วิธีนี้จะทำให้ช่างเสื้อมีความสุขกับการสร้างสรรค์ผลงาน
ปัจจุบันมีชาวบ้านย้อมผ้า ทอผ้าและงานตัดเย็บมากกว่า 500 คน ใน 6 ชุมชน พวกผู้ชายในหมู่บ้านที่ออกไปหางานทำในเมืองก็กลับมาที่หมู่บ้านและมาเริ่มทำงานนี้ บางครอบครัวทำกันทั้งครอบครัวเลย ผมรู้สึกประทับใจวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านที่เรียบง่าย และได้เห็นการกลับมารวมกลุ่มรวมพลังชุมชนเหมือนที่เคยเป็นมา เกิดความงอกงามทางจิตวิญญาณมากกว่าการให้คุณค่ากับวัตถุ ผมได้เรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่พวกชาวบ้านยึดถือปฏิบัติกันมา และวิถีชีวิตที่ฝังรากลึกลงผืนดิน ผมเองรู้สึกเจ็บปวดที่เคยดำเนินชีวิตโดยลืมผืนดิน ถ้าลืมผืนดินเท้าก็จะห่างจากผืนโลก ผมคิดว่าพวกชาวบ้านเข้าใจความหมายในการใช้ชีวิตบนผืนโลกเป็นอย่างดี

Written by

We are Creative Blogger Theme Wavers which provides user friendly, effective and easy to use themes. Each support has free and providing HD support screen casting.

0 ความคิดเห็น:

 

© 2013 ํYOUG ME DESIGN. All rights resevered. Designed by Templateism

Back To Top